1.ทะเลหมอกสุคิริน
ทะเลหมอกบ้านภูเขาทอง เป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ที่นักท่องเที่ยวสามารถรับชมกับบรรยากาศของทะเลหมอกที่แสนงดงาม เป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การกางเต็นท์พักแรมเพื่อรอชมพระอาทิตย์ตกในยามเย็นและรอรับไอหมอกในยามเช้า
ด้วยความเป็นธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ สถานที่แห่งนี้จึงสามารถมองเห็นสัตว์นานาชนิดที่ผ่านไป - มา และเป็นสถานที่ที่จัดได้ว่าสวยงามเป็นอันดับต้นๆของจังหวัดนราธิวาสอีกด้วย
ทะเลหมอกบ้านภูเขาทองตั้งอยู่ที่ บ้านภูเขาทอง ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
2.น้ำตกสุคิริน
อยู่ห่างจากต้นกะพงยักษ์ ประมาณ ๒๐๐ เมตร เป็นน้ำตกที่มีความสวยงาม ประกอบด้วยธารน้ำตก ๔ ชั้น ในแต่ละชั้นมีความสูงประมาณ ๑๐ เมตร
ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
3.หมู่บ้านจุฬาภรณ์
หมู่บ้านจุฬาภรณ์ ๑๒ ตั้งอยู่ที่ตำบลสุคิริน ห่างจากอำเภอสุคิรินประมาณ ๒๗ กิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และธรรมชาติที่ยังคงอุดมสมบูรณ์และสวยงาม เดิมเป็นที่ตั้งมั่นของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา กรม ๑๐ ในปี ๒๕๓๒ ได้มีการลงนามสันติภาพยุติการสู้รบด้วยอาวุธและกำลัง หันมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เรียกว่า หมู่บ้านกิตติ ๔ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “หมู่บ้านจุฬาภรณ์ ๑๒ “ ภายในหมู่บ้านมีพิพิธภัณฑ์บ้านจุฬาภรณ์ ๑๒ ซึ่งเป็นที่เก็บอาวุธและสิ่งของร่องรอทางประวัติศาสตร์ และมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทัศนียภาพที่สวยงาม มีกิจกรรมผจญภัยล่องแก่งท่ามกลางป่าเขาธรรมชาติที่สวยงาม
ติดต่อสอบถามข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว อ.สุคิริน
Facebook อบต. ภูเขาทอง/โทร. ๐ ๗๓๗๐ ๙๗๒๖
ศูนย์ประสานงาน (ฟาร์ม) โทร. ๐ ๗๓๗๐ ๙๗๓๐/๐๖ ๒๒๒๘ ๙๐๘๙
สำนักสงฆ์พระธาตุภูเขาทอง โทร. ๐๙ ๐๗๑๒ ๑๖๗๙
ภูศาลา/ขึ้นเหมือง โทร. ๐๘ ๘๔๘๘ ๗๓๘๙
เขาแผงม้า โทร. ๐๙ ๙๔๗๐ ๙๖๖๓
ผาอโศก โทร. ๐๙ ๑๘๔๖ ๖๓๓๖
ผาสน โทร. ๐๘ ๒๘๒๕ ๑๓๐๔
การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๔๐๘๔ นราธิวาส-ตากใบ- สุไหงโกลก (ระยะทาง ๖๐ กิโลเมตร และเส้นทางหลวง ๔๐๕๗ แว้ง-สุคิริน ระยะทางประมาณ ๕๐ กิโลเมตร
4.วัดโกลกเทพวิมล
วัดโก-ลกเทพวิมล หรือชาวบ้านเรียกว่า "วัดท่านเอียด" ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ได้รับอนุญาตสร้างวัด เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๐๐ โดยพระสมุห์เอียด พุทธสโร เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก และมรณภาพเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๓๔ อายุ ๙๕ ปี ร่างกายของท่านแข็งเป็นหิน สิ่งสักการะบูชาในวัด ได้แก่ พระมหาสังกัจจายน์องค์ใหญ่ พระพูทธรูปประจำวัน พระโพธิสัตว์กวนอิม สมเด็จพุทฒาจารย์โต หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด หลวงปู่เอียดแข็งเป็นหิน
นอกจากนี้ในวัดยังมีศูนย์นวดแผนไทย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และจัดตั้งชมรมชินบัญชรเผยแพร่การสวดพระคาถาชินบัญชรด้วย ปัจจุบันพระครูสุนทรเทพวิมล ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส
การเดินทาง ในเขตเทศบาลมีรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ราคาขึ้นอยู่กับระยะทาง ประมาณ 20 - 50 บาท
5.ตลาดตาบา
ด่านตาบา หรือ ด่านตากใบ ตั้งอยู่บ้านตาบา ตำบลเจ๊ะเห เป็นช่องทางการท่องเที่ยวและค้าขายระหว่างประเทศไทย–มาเลเซีย อีกแห่งหนึ่ง ผู้ที่จะข้ามไปซื้อของที่ร้านค้าปลอดภาษี ด่านศุลกากรเพนกาลันกูโบ รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย สามารถข้ามเช้าไป-เย็นกลับได้ ระหว่างเวลา ๐๖.๓๐-๑๗.๓๐ น. หากข้ามไปค้างคืนต้องขอใบผ่านแดนแบบ ๑ ปี ติดต่อทำบัตรผ่านแดนที่สำนักงานอำเภอตากใบ ห่างจากด่านตากใบ ๓ กิโลเมตร สอบถามข้อมูล โทร. ๐ ๗๓๕๘ ๑๔๒๑
การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๐๘๔ นราธิวาส–ตากใบ การข้ามฟากสามารถข้ามไปโดยเรือหางยาวหรือแพขนานยนต์ ค่าโดยสารคนละ ๑๐ บาท ถ้านำรถยนต์เข้าไปไกลกว่าด่านศุลกากรจะต้องทำประกันรถยนต์ก่อน และมีข้อกำหนดว่าต้องเป็นรถที่ติดฟิล์มไม่เกิน ๔๐ เปอร์เซ็นต์ และมีเข็มขัดนิรภัย เพราะฝั่งมาเลเซียเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยรถยนต์ มีบริษัทรับทำประกันรถยนต์ทั้งฝั่งไทยและฝั่งมาเลเซีย
6.อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว
อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว ตั้งอยู่หมู่ ๑ ตำบลกะลุวอเหนือ เป็นชายหาดที่ยาวต่อเนื่องจากชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของจังหวัดปัตตานี เป็นโค้งอ่าวเชื่อมต่อกันยาว ๔ กิโลเมตร มีโขดหินคั่นสลับโค้งหาดเป็นระยะ ๆ ด้านหนึ่งติดพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ บริเวณริมหาดมีสวนรุกขชาติ และทิวสนร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายหาด (beach forest) ระยะทาง ๑ กิโลเมตร พันธุ์ไม้ที่พบจะเป็นไม้ที่ชอบความแห้งแล้ง เช่น จักทะเล มะนาวผี เตยทะเล (คล้ายสับปะรด) เป็นต้น และในบริเวณใกล้เคียงยังมีบ้านพักของเอกชนให้บริการ
การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๐๘๔ นราธิวาส-ตากใบ ๓ กิโลเมตร และมีทางแยกไปสู่หาดอีก ๓ กิโลเมตร
7.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง
แหล่งรวมการศึกษา ข้อมูลวิชาการและฝึกอบรมการเกษตร เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาที่ดินแก่ราษฎรในพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จ คือ วิเคราะห์ ทดลอง ทดสอบการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ภายในศูนย์ฯ แบ่งเป็น อาคารสำนักงาน แปลงสาธิต และแปลงวิจัยทดลองในพื้นที่ป่าพรุ โครงการที่สำคัญๆ เช่น โครงการแกล้งดิน โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ นำมาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพพื้นที่นี้ซึ่งมีน้ำมากพออยู่แล้ว การทดลองปลูกปาล์มน้ำมันที่ขึ้นในดินอินทรีย์จัดโดยมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กครบวงจรร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน เช่น น้ำมันที่สกัดได้จากปาล์ม สบู่ เนย ส่วนหนึ่งขายให้คนงาน และส่วนหนึ่งจำหน่ายภายนอก โรงงานปศุสัตว์ทำบ่อก๊าซชีวภาพจากมูลวัว การทดลองนำระกำหวานมาปลูกเป็นพืชแซมในสวนยางพารา เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังเปิดศูนย์ฝึกอบรมงานหัตถกรรมจากกระจูดและใบปาหนัน ให้ชมในวันและเวลาราชการ ๐๘.๐๐–๑๖.๐๐ น. สอบถามข้อมูล โทร. ๐ ๗๓๖๓ ๑๐๓๓, ๐ ๗๓๖๓ ๑๐๓๘ หรือ www.pikunthong.com
การเดินทาง ศูนย์ฯ อยู่ระหว่างบ้านพิกุลทองและบ้านโคกสยา ตำบลกะลุวอเหนือ ห่างจากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ๑ กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองนราธิวาส ๘ กิโลเมตร
8.พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร ตั้งอยู่บ้านกาเด็ง หมู่ที่ ๗ ตำบลละหาร ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยนายรัศมินทร์ นิติธรรม (ผู้ใหญ่มิง) เป็นผู้ก่อตั้ง ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ เพื่อรักษาศิลปะ ภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้กับเยาวชนรุ่นหลัง โดยมีกิจกรรมให้เด็กในชุมชนช่วงปิดเทอม เช่น เรียนรู้เรื่องศิลปะป้องกันตัวท้องถิ่น เรียกว่า ซีละ หรือ การรำตารีอีนา ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็น ๖ ห้อง ได้แก่
ห้องที่ ๑ ห้องภูมิหลัง จัดแสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องปั้นดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยลังกาสุกะ
ห้องที่ ๒ ห้องเครื่องใช้ไม้สอย จัดแสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ ของชาวมลายูในชายแดนใต้ เช่น เครื่องทองเหลือง และเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น
ห้องที่ ๓ ห้องพิธีกรรม จัดแสดงแบบประเพณี พิธีกรรมของชาวมลายูในชายแดนภาคใต้ เช่น การแห่นก มะโย่ง และแม่พิมพ์ขนม
ห้องที่ ๔ ห้องสายน้ำ จัดแสดงวัสดุ อุปกรณ์ การประกอบอาชีพ ประมงน้ำจืด ประมงน้ำเค็ม
ห้องที่ ๕ ห้องศาสตราวุธ จัดแสดงศาสตราวุธชาวมลายูในอดีต เช่น กริช ดาบ
ห้องที่ ๖ ห้องนันทนาการ จัดแสดงวัสดุ อุปกรณ์ สำหรับนันทนาการของชาวมลายูในอดีต เช่น ที่ดักนกคุ่ม กรงตั๊กแตนประชันเสียง
พิพิธภัณฑ์เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น.-๑๖.๐๐ น. สอบถามข้อมูล โทร. ๐ ๗๓๕๙ ๑๒๒๒, ๐๘ ๙๖๕๖ ๙๙๕๗
การเดินทาง ริมทางหลวงหมายเลข ๔๒ นราธิวาส-บาเจาะ-ปัตตานี
พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัล-กุรอาน ตั้งอยู่ ณ โรงเรียนสมานมิตรวิทยา ต.ละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส อยู่ห่างจากตัวเมืองนราธิวาสไปประมาณ ๑๑ กิโลเมตร เป็นที่รวบรวมเอกสารโบราณมีการรวบรวมคัมภีร์ไว้มากกว่า ๗๐ เล่ม ซึ่งส่วนใหญ่รวบรวมมาจากชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คัมภีร์อัล-กุรอานที่เก่าแก่ที่สุดของโรงเรียนสมานมิตรวิทยามีอายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี ซึ่งเป็นของประเทศอียิปต์ นอกจากนี้แล้วยังมีตำรายา ตำราดาราศาสตร์และตำราต่างๆ ที่มีอายุเก่าแก่เช่นเดียวกัน แต่เดิมนั้นชาวบ้านจะจัดเก็บคัมภีร์อัล-กุรอานไว้ตามบ้าน ไม่ได้นำมารวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ กระทั่งกรมศิลปากรเข้ามาดูแล จึงร่วมกันรวบรวมคัมภีร์ตำราที่สำคัญมาซ่อมแซม โดยคัมภีร์อัล-กุรอานที่ชำรุดและไม่สามารถซ่อมแซมเองได้นั้น จะมีการจัดส่งไปให้ช่างที่ชำนาญการในประเทศตุรกีทำการซ่อมแซม
ส่วนการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ถาวร ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง แต่มีการจัดพิพิธภัณฑ์ชั่วคราว ซึ่งจะนำคัมภีร์อัล-กุรอานมาหมุนเวียนจัดแสดงทุก ๓ เดือน เปิดให้ผู้นำศาสนา และบุคคลสำคัญจากต่างประเทศเข้ามาศึกษาดูงาน ซึ่งสาเหตุที่ต้องนำคัมภีร์อัล-กุรอานมาตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์ เนื่องจากกลัวว่าคัมภีร์ อัล-กุรอานจะชำรุด และเสียหาย โดยในห้องพิพิธภัณฑ์จะต้องมีเครื่องควบคุมอุณหภูมิ เพื่อการดูแลรักษา รวมถึงมีกล้องวงจรปิด เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัย
พิพิธภัณฑ์เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น.- ๑๖.๐๐ น. สอบถามข้อมูล โทร. ๐ ๗๓๕๙ ๑๒๒๒, ๐๘ ๙๖๕๖ ๙๙๕๗, ๐๘ ๔๙๗๓ ๕๗๗๒
การเดินทาง ริมทางหลวงหมายเลข ๔๒ นราธิวาส-บาเจาะ-ปัตตานี
9.มัสยิด 300 ปี
มัสยิดวาดีลฮูเซ็น หรือ มัสยิดตะโละมาเนาะ (มัสยิด ๓๐๐ ปี) ตั้งอยู่บ้านตะโละมาเนาะ ตำบลลุโบะสาวอ นายวันฮูเซ็น อัส-ซานาวี ผู้อพยพมาจากบ้านสะนอยานยา จังหวัดปัตตานี เป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๗ เริ่มแรกสร้างหลังคามุงใบลาน
ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผา ลักษณะของมัสยิดมีความแตกต่างจากมัสยิดทั่วไป คือเป็นอาคาร ๒ หลังติดต่อกัน สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง ลักษณะการสร้างจะใช้ไม้สลักแทนตะปู รูปทรงของอาคารเป็นแบบไทยพื้นเมืองประยุกต์เข้ากับศิลปะจีนและมลายู ส่วนเด่นที่สุดของอาคาร คือ เหนือหลังคาจะมีฐานมารองรับจั่วบนหลังคาอยู่ชั้นหนึ่ง ส่วนหออาซานมีลักษณะเป็นเก๋งจีน ตั้งอยู่บนหลังคา ส่วนหลัง ฝาเรือนใช้ไม้ทั้งแผ่นแล้วเจาะหน้าต่าง ช่องลมแกะเป็นลวดลาย ใบไม้ ดอกไม้สลับลายจีน ด้านข้างมัสยิดมีสุสานชาวมุสลิม ถ้าเป็นของผู้ชายหินที่ประดับอยู่บนหลุมฝังศพจะมีลักษณะกลม ถ้าเป็นของผู้หญิงจะเป็นหินเพียงซีกเดียว
ปัจจุบันมัสยิดแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานประกอบศาสนกิจ หากต้องการเข้าชมภายในต้องได้รับอนุญาตจากโต๊ะอิหม่ามประจำหมู่บ้าน โดยทั่วไปเข้าชมได้บริเวณภายนอกเท่านั้น
การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๒ นราธิวาส - บาเจาะ ระยะทาง ๒๕ กิโลเมตร แล้วแยกที่บ้านบือราแง
10.น้ำตกปาโจ
น้ำตกปาโจ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ของผืนป่าบูโด มีน้ำไหลตลอดปี มีน้ำตก ๔ ชั้น ชั้นแรกมีขนาดใหญ่และสวยที่สุด สายน้ำไหลตกจากลานผาหินกว้าง สูง ๖๐ เมตร ลงสู่แอ่งน้ำใหญ่ ในช่วงฤดูฝนน้ำตกปาโจจะยิ่งสวยงามมาก สภาพป่า เป็นป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้หลายชนิด เช่น กะลอ หลุมพอ ฯลฯ ตามพื้นป่ามีหวาย ปาล์ม หลากหลายชนิด สัตว์ที่พบเห็นง่ายได้แก่ ค่างแว่นถิ่นใต้ นกกาฝากท้องสีส้ม เป็นต้น
ศาลาธารทัศน์ ซึ่งเคยเป็นพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสจังหวัดนราธิวาส และยังมีก้อนหินสลักพระปรมาภิไธยตั้งอยู่ในบริเวณน้ำตกปาโจด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น